การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Big Lot) หรือไฟฟ้าสีเขียว จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้า เพิ่มขึ้นหรือไม่ และเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่มีการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากก่อนหน้านี้
แม้ว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อ้างว่าดำเนินการจากมติของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อ 6 พ.ค. 65 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว
แต่ประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบคือค่าไฟฟ้าถูกจริงตามที่สนพ.อ้างหรือไม่ ที่ระบุว่าเฉลี่ยแล้วซื้อถูกกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำหน่ายให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะการคิดค่าไฟฟ้ามีเทคนิคต่าง ๆ ซับซ้อน และสนพ.ต้องตอบข้อสงสัยอีกเรื่องคือการเอื้อกลุ่มทุนบางกลุ่ม ไม่ใช่แค่การอ้างมติกพช.
สุรชัย ชัยทัศนีย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับ “Policy Watch” ว่า การจะหาคำตอบการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งประกอบต้นทุนในส่วนต่างๆด้วย G, T ,D&R
- G หมายถึง ต้นทุนระบบระบบผลิตไฟฟ้า ( Generation) มีความหมายรวมถึงต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ต้นทุนเชื้อเพลิงของ กฟผ. และรวมถึงต้นทุน การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เช่น IPP SPP ทั้งในส่วนของค่าความพร้อมจ่าย และค่าเชื้อเพลิง รวมไปถึงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Big Lot และ เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จะพบว่าต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าเอกชนนี้จะเป็น Fixed Cost หรือ ต้นทุนคงที่ในขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงของ กฟผ. และค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเอกชนนี้จะเป็น Variable Cost หรือ ต้นทุนผันแปร”
- T หมายถึง ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า (Transmission) ของ กฟผ. ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีไฟฟ้า สายส่งไฟฟ้า ต้นทุนส่วนนี้จะเป็น Fixed Cost
- D&R หมายถึง ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าและกิจการจำหน่ายไฟฟ้า (Distribution & Retail) ของ กฟภ. และ กฟน. ซึ่งประกอบไปด้วยสถานีไฟฟ้า สายจำหน่ายไฟฟ้า สำนักงานเขตของการไฟฟ้า การจดหน่วยมิเตอร์ การแจ้งบิล เป็นต้น ซึ่งต้นทุนส่วนนี้จะเป็น Fixed Cost เช่นเดียวกัน
ซื้อ RE Big Lot ค่าไฟฟ้าจะขึ้นหรือไม่
การรับซื้อไฟฟ้า Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นหรือไม่ ซึ่ง สุรชัย บอกว่า หากพิจารณาจากโครงสร้างค่าไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot น่าจะมีผลต่อต้นทุนในส่วนของ G
อย่างไรก็ตามการคำนวณโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากการซื้อไฟฟ้าสีเขียว ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเป็นโครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าเพื่อขายให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ซึ่งจะเป็นกลุ่มบริษัทที่ต้องการใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 100%
แต่การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวปริมาณมากนี้ ท้ายสุดอาจจะไม่ได้ขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 อย่างเดียวเท่านั้น ในกรณีที่การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวนี้ไม่สามารถขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ได้ทั้งหมด ย่อมมีส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าปกติร่วมด้วย
“ความเข้าใจของผมคือ การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวมีเป้าหมายเพื่อขายกับกลุ่ม RE 100 แต่มีกลุ่มบริษัทมาลงทะเบียนเพื่อรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวยังไม่มากนัก และอาจจะต่ำกว่าตั้งเป้าหมายไว้ จนทำให้ ไฟฟ้าสีเขียว 5,200 เมกะวัตถ์ ที่ภาครัฐรับซื้อมาไม่สามารถขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ได้เต็มจำนวน และ อาจต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าปกติร่วมด้วย”
ในกรณีมีผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ครบตามจำนวนที่ภาครัฐรับซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot ทั้งหมดควรจะต้องถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 โดยตรงทั้งหมด ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot นี้ก็อาจจะไม่กระทบค่าไฟฟ้าปกติของประชาชน
อย่างไรก็ตามการที่ต้นทุนส่วน G ของประเทศไทยมีส่วนที่เป็น Fixed Cost ดังที่กล่าวข้างต้นด้วย แล้วมีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือ RE 100 ย่อมทำให้ตัวหารต้นทุน Fixed Cost ดังกล่าวลดลง และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปกติของประชาชนสูงขึ้นได้
สุรชัย อธิบายอีกว่าเข้าใจว่าทางแก้ไขปัญหานี้ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า UGT คือ ผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 จะต้องช่วยจ่ายค่า Fixed Cost นี้ด้วย แต่ยังคงเป็นประเด็นว่าผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ช่วยจ่ายค่า Fixed Cost นี้เต็มจำนวนหรือไม่ หากจ่ายเต็มจำนวนก็จะไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าปกติของประชาชน
แต่หากผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 จ่ายไม่เต็มจำนวนโดยให้เหตุผลว่าแหล่งผลิตไฟฟ้า RE Big Lot นี้ก็มีความมั่นคงเช่นเดียวกันไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หรือค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าเอกชน ก็ย่อมมีความหมายว่า Fixed Cost ของระบบจะมีตัวหารลดลง
“เปรียบเสมือน โต๊ะจีน 1 โต๊ะ มีคน 10 คน ค่าโต๊ะ 1,000 บาท หารเฉลี่ยคนละ 100 บาท คนที่อยากใช้ไฟฟ้าสีเขียว ก็เหมือนคนที่ลุกออกจากโต๊ะ ไปกินอาหารที่อื่น หากลุกออกไป 1 คนก็ทำให้ โต๊ะจีนเหลือจำนวน 9 คนแต่ค่าอาหารยังเท่าเดิม แต่ละคนจึงต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ยิ่งคนลุกออกไปมากขึ้น คนที่ยังอยู่ก็ยิ่งหารกันแพงขึ้น ทางออกที่จะทำให้เกิดกรณีที่เรียกว่า Win -Win คือคนที่ลุกออกจากโต๊ะจีน เป็นคนที่ไปสร้างรายได้เพิ่ม และนำรายได้มาช่วยหารกับคนในโต๊ะ ซึ่งกรณีไฟฟ้าสีเขียวนี้ ที่จะมารองรับการส่งสินค้าไปต่างประเทศ หรือการรองรับกลุ่ม Data Center ก็ควรต้องเปรียบเทียบให้เห็นเป็นตัวเลขชัดๆ ได้ว่า ประโยชน์ที่ประเทศจะได้นี้มากกว่าต้นทุนค่าไฟที่ประชาชนต้องช่วยกันจ่ายเพิ่มขึ้น”
ในกรณีมีผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ไม่ครบตามจำนวนที่ภาครัฐรับซื้อ 5,200 เมกะวัตต์ หรือใช้เวลาหลายปีจนกว่าจะครบต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot บางส่วนจะถูกส่งผ่านไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ดังอธิบายในกรณีข้างต้น แต่ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot ส่วนที่เหลือย่อยถูกส่งผ่านเข้าไปรวมกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าปกติของประชาชน
ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot ส่วนที่เหลือนี้ ในเบื้องต้นอาจจะพิจารณาได้ว่าต้องไปเปรียบเทียบกับ “ต้นทุนเชื้อเพลิงของ กฟผ. และค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าเอกชน ที่เป็น Variable Cost หรือ ต้นทุนผันแปร” ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า “ต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมของประเทศ”
เราจะต้องพิจารณาว่าต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot ส่วนที่เหลือนี้ มีค่าต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงของเดิมหรือไม่ หากต่ำกว่าค่าไฟฟ้าปกติของประชาชนก็จะถูกลง แต่หากสูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติของประชาชนก็จะสูงขึ้น
“หากต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีค่าประมาณ 2.7 บาท/หน่วย ก็ต้องไปดูว่าต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมของประเทศเป็นเท่าไร เบื้องต้นเข้าใจว่าต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมของประเทศมีค่าใกล้เคียงกับ 2.7 บาท/หน่วยพอดี”
เปิดข้อมูลซื้อไฟสีเขียวก่อนสรุปค่าไฟถูกหรือแพง
อย่างไรก็ตามในรายละเอียดจะซับซ้อนขึ้นมาก ดังนี้ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีค่าประมาณ 2.7 บาท/หน่วย เกิดจากค่าเฉลี่ยของ RE Big Lot หลายประเภทเชื้อเพลิง/เทคโนโลยี และต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมของประเทศประมาณ 2.7 บาท/หน่วยนี้ก็เกิดจากค่าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าหลายๆ ประเภทเช่นกัน
ประเด็นสำคัญก็คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมของประเทศเฉลี่ยๆ ประมาณ 2.7 บาท/หน่วยนี้เกิดจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำกว่า 2.7 บาท/หน่วยบ้าง และโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่า 2.7 บาท/หน่วยบ้าง
การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เข้ามานี้ย่อมต้องไปลดการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเดิม โรงไฟฟ้าที่ถูกสั่งให้ลดการผลิตไฟฟ้านี้จะมีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำกว่า 2.7 บาท/หน่วย หรือสูงกว่า 2.7 บาท/หน่วย
ในขณะที่ประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาขายไฟฟ้าไว้แล้ว หรือ Committed หรือ Take-or-pay อยู่จำนวนหนึ่ง รวมถึงอาจจะมีโรงไฟฟ้าที่จำเป็นต้องเดินเครื่อง หรือ Must-run ซึ่งโรงไฟฟ้าสองกลุ่มนี้อาจจะมีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2.7 บาท/หน่วยได้
ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะกลายเป็นว่าไปลดการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงต่ำกว่า 2.7 บาท/หน่วยได้ เช่น หากการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีผลไปลดการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิง 2.4 บาท/หน่วย แบบนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงโดยรวมของประเทศทั้งหมดก็จะสูงขึ้น และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปกติของประชนชนสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า เราสามารถรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เฉพาะประเภทเชื้อเพลิง/เทคโนโลยีที่ต้นทุนต่ำได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะทำให้ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีค่าต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมของประเทศที่มีค่าประมาณ 2.7 บาท/หน่วย
นอกจากนี้ ยังคงมีประเด็นในส่วนของต้นทุนส่วน G ของประเทศไทยที่มีส่วนที่เป็น Fixed Cost ดังที่กล่าวข้างต้น แล้วมีผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนหนึ่งเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือ RE 100 ย่อมทำให้ตัวหารต้นทุน Fixed Cost ดังกล่าวลดลง และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปกติของประชาชนสูงขึ้นได้เช่นกัน
เข้าใจว่าทางแก้ไขปัญหานี้ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า UGT คือ ผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 จะต้องช่วยจ่ายค่า Fixed Cost นี้ด้วย แต่ยังคงเป็นประเด็นว่าผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 ช่วยจ่ายค่า Fixed Cost นี้เต็มจำนวนหรือไม่ หากจ่ายเต็มจำนวนก็จะไม่มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าปกติของประชาชน (ในส่วนของ Fixed Cost)
แต่หากผู้ใช้ไฟฟ้า RE 100 จ่ายไม่เต็มจำนวนโดยให้เหตุผลว่าแหล่งผลิตไฟฟ้า RE Big Lot นี้ก็มีความมั่นคงเช่นเดียวกันไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. หรือค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าเอกชน ก็ย่อมมีความหมายว่า Fixed Cost ของระบบมีตัวหารลดลง และค่าไฟฟ้าปกติของประชนชนสูงขึ้นได้
ทั้งนี้ในกรณีที่อัตราค่าไฟฟ้า UGT มีการการรวม Fixed Cost นี้ด้วยแล้ว ก็อาจจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้า UGT มีค่าสูงและไม่จูงใจสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่ม RE 100 หรือผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวได้
“คำถามที่ผมถามว่าเราสามารถเลือกประเภทเชื้อเพลิง RE ที่ถูกได้หรือไม่นี้ อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้สมัครเข้ามาใช้ไฟฟ้า RE 100 ยังไม่มาก เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าอาจจะยังแพงอยู่ ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่ม RE 100 อาจจะรอการซื้อขายไฟฟ้าแบบ TPA หรือ Direct PPA เพราะผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันได้โดยตรง”
โดยสรุปแล้ว การเข้ามาของ RE Big Lot เข้ามาช่วยให้ค่าไฟฟ้าปกติของประชาชนลดลงหรือไม่ ต้องนำตัวเลขที่แท้จริงมาเปิดเผยและคำนวณร่วมกันอย่างละเอียดก่อนที่จะสรุปว่า การเข้ามาของไฟฟ้าสีเขียวทำให้ค่าไฟฟ้าถูกหรือแพงขึ้น
นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งจะต้องลงทุนปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบไฟฟ้า Smart Grid ซึ่งก็จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเช่นเดียวกัน
ความเห็นต่าง Big Lot ดันค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเรื่องของการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นหรือไม่ เมื่อไม่นานมานี้ วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) บอกว่า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาท/หน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์มีอัตรา 2.18 บาท/หน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาท/หน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) มีอัตรา 2.83 บาท/หน่วย)
วัฒนพงษ์ ระบุว่าราคาต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือน มี.ค.68 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาท/หน่วย
ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาท/ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40% ภายในปี 2573 มุ่งสู่เป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ภายในปี 2593 และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
ดันค่าไฟแพงขึ้นเพราะต้องจ่ายค่า AP
ขณะที่ ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เห็นว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายในสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว โดยเฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ที่รัฐต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนแม้ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า จึงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีกล้าตัดสินใจเพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยระงับการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการพลังงานลม 5,200 เมกะวัตต์ ในส่วนที่ยังไม่ได้มีการลงนาม และเสนอให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Direct PPA เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิตในราคาที่ถูกลง
นอกจากนี้เสนอให้มีการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีลักษณะเอื้อประโยชน์เอกชนเกินควร เช่น สัญญาแบบ Adder และ FiT และ การลดภาระค่าใช้จ่ายในสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว โดยเฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ที่รัฐต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนแม้ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า พร้อมทั้งปรับปรุงระบบบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าให้มีการเลือกใช้แหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุดก่อนอย่างแท้จริง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:
ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนถูก ทางออกลดปล่อยคาร์บอน
โรงไฟฟ้าพลังน้ำกับความหมกเม็ดของ “พลังงานสะอาด” ในร่างแผน PDP2024
พลังงาน โต้แผน PDP2024 เอื้อทุนผูกขาด ทำค่าไฟแพง
.